ถ้าไม่ตรวจสุขภาพกันเป็นประจำ คนที่ภายนอกดูเหมือนสุขภาพแข็งแรงดี บางครั้งอาจจะมีอาการป่วยบางอย่างแอบซ่อนอยู่ในร่างกายโดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ ถ้าคุณร้างลาการตรวจสุขภาพมานาน ไม่ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการบริโภคของตัวเองและขาดการออกกำลังกาย นายแพทย์บุญเทียม พิทักษ์ดำรง-กุล ผู้อำนวยการศูนย์ อาร์เอสยู (RSU) เมดิคอลเซ็นเตอร์ เตือนว่า คนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเป็น 1 ใน 5 (หรือมากกว่า) โรคที่ไม่แสดงอาการของผู้ชายทั่วไป ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. โรคทาลัสซีเมีย : เป็นโรคโลหิตจางที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงผิดปกติ แตกง่าย มีโอกาสเป็นได้ทั้งหญิงและชาย โดยที่ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคนี้เป็นโรค ที่สามารถพบได้ทั่วโลก แต่พบได้มากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย ยากที่จะดูออกเพราะผู้ที่มียีนแฝงทาลัสซีเมียมักจะมีลักษณะและสุขภาพดีเหมือนคนทั่วๆ ไป โดยในประเทศไทยมีพาหะหรือยีนแฝงมากถึงราว 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ! ก่อนแต่งงานเป็นคู่สามีภรรยา ทั้งชายและหญิงจึงควรตรวจเลือดตนเองเพื่อคัดกรองว่ามียีนแฝง (พาหะ) อยู่หรือไม่และถ้าทราบว่ามียีนแฝงหรือพาหะ ก็ควรที่จะแนะนำให้คนในครอบครัวไปตรวจเลือดเพื่อความมั่นใจครับ
2. โรคเบาหวาน : แสดงถึงการเผาผลาญน้ำตาลที่ไม่สมดุล ทำให้มีระดับน้ำตาลค้างอยู่ในเลือดสูงเกินกว่าปกติหรือห่างจากปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ไตทำงานหนัก โดยร่างกายจะมีอาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำบ่อยมาก ปัสสาวะบ่อย และมีน้ำหนักตัวลดลง สำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน โดยเฉพาะร่วมกับมีความดันโลหิตสูง ชอบกินของหวานมากๆ หรือมีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว
ถ้าตรวจพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (ควรตรวจซ้ำ 2 ครั้ง) ถือว่าเป็นเบาหวาน ถ้าเจาะแบบไม่ได้อดอาหาร (Random) แล้วได้น้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าเป็นเบาหวาน ต้องได้รับการรักษาเช่นเดียวกัน เพราะผลแทรกซ้อนของเบาหวานอาจทำให้ร่างกายติดเชื้อง่าย ภูมิคุ้มกันต่ำ เกิดภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง ไตเสื่อม ไตวาย หลอดเลือดเลี้ยงจอประสาทตาตีบตันทำให้จอประสาทตาเสื่อม หลอดเลือดเลี้ยงสมองตีบตัน และทำให้สมรรถภาพทางเพศลดถอยลง
3. โรคหัวใจขาดเลือด : หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเกิดการตีบส่วนใหญ่แล้วเกิดจากหลอดเลือดแข็งตัวขึ้นเนื่องจากมีไขมันสะสมในผนังด้านในของหลอดเลือด เป็นผลให้เลือดไหลผ่านไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่ง่าย นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากเกล็ดเลือดและลิ่มเลือดอุดตันได้
อาการที่สำคัญของภาวะหัวใจขาดเลือดคืออาการเจ็บ แน่นหน้าอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะออกแรง แต่เมื่อได้พักแล้วจะรู้สึกดีขึ้น อึดอัดบริเวณกลางหน้าอกหรือค่อนมาทางซ้าย หายใจไม่สะดวก อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด บางรายนอกจากแน่นบริเวณหน้าอกแล้วยังอาจเจ็บร้าวไปที่หัวไหล่ แขน หรือคอ มักเกิดขึ้นกับคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เจ้าอารมณ์ โมโหง่าย และเครียดเป็นประจำ สำหรับแนวทางการรักษาที่สำคัญนั้นมี 3 แนวทางด้วยกัน คือ รักษาด้วยยา รักษาโดยการขยายหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และสุดท้ายรักษาโดยการผ่าตัด
4. โรคมะเร็งปอด : คุณทราบดีว่าการสูบบุหรี่จัดยิ่งนานวันก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มาก แต่ก็ไม่ควรละเลยความจริงที่ว่ามลพิษทางอากาศ จากควันดำ จากเครื่องยนต์ รถยนต์ อากาศเสีย (Smog) ในเมืองหลวง ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ หรือผู้ที่สัมผัสสารกัมมันตรังสี ก็มีโอกาสป่วยจากโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น หากมีอาการไอแห้งๆ นานกว่าปกติ เช่น มากกว่า 2 สัปดาห์หรือเป็นเดือน ไอมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย หายใจลำบากเนื่องจากการอักเสบเรื้อรัง ควรได้รับการวินิจฉัยตรวจเสมหะ การ X-ray ปอด ทุกๆ 6 เดือนหรือ 1 ปี เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากเพื่อการรักษาและป้องกันที่ถูกวิธี
5. โรคตับอักเสบจากไวรัส : สำหรับ ‘ไวรัสตับอักเสบ' เมื่อติดเชื้อนี้ทั้งจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม การมีเพศสัมพันธ์ หรือการรับบริจาคเลือดที่ไม่มีการคัดกรอง จะมีอาการของตับอักเสบ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีไข้ ปวดเมื่อย และต่อมาเริ่มมีอาการปัสสาวะเข้ม ตาเหลือง ผิวหนังตามตัวเหลือง ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือบางครั้งถึง 4 สัปดาห์จึงจะหาย แต่บางรายที่พบเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดรุนแรง เช่น ชนิดบี (บางชนิด) ชนิดซี (บางชนิด) ก็อาจรุนแรงถึงขั้นตับวายและเสียชีวิตได้
และถ้าพูดถึงสถิติและความ อันตรายของโรคควบคู่กันไปแล้ว คุณหมอบอกกับเราว่าโรคนี้ค่อนข้างที่จะมีสถิติที่น่าเป็นห่วงกว่า 4 โรคที่ผ่านมา แต่ในเวลานี้ก็ได้มีการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบทั้งชนิดเอและบีได้ แล้ว เพราะฉะนั้นสำหรับวิธีที่จะใช้ในการรักษาและป้องกันในกรณีที่ไม่เคยฉีด วัคซีนและไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน คุณควรจะหาโอกาสพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดดู ว่าร่างกายมีไวรัสตับอักเสบ เป็นพาหะ หรือมีภูมิคุ้มกันโรค
ดังกล่าวอยู่ในร่างกายหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เคยเป็นหรือผู้ที่สงสัยว่าอาจเป็นพาหะของโรคก็ไม่ควรบริจาคเลือด จนกว่าจะมั่นใจจากผลการตรวจจากแพทย์ว่าหายขาด ไม่เป็นพาหะ และสามารถบริจาคเลือดได้จริง
5 โรค ดังกล่าวถูกคัดเลือกมาจาก 7 โรคอันตรายที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งประกอบด้วย โรคทาลัสซีเมีย โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด โรคตับอักเสบจากไวรัส รวมทั้งโรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งปากมดลูกที่พบในสุภาพสตรี
อ้างอิง http://women.sanook.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น